วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

บทที่ 5
บทบาทของศาสนาคริสต์ในโลกปัจจุบัน
“ท่าทีของศาสนาคริสต์ต่อสังคม คืออะไร?”

ปี ค.ศ. 2006 ประชากรโลกมีทั้งสิ้นประมาณ 6,500 ล้านคน มีผู้นับถือศาสนาคริสต์ราว 2,100 ล้านคน (คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย, 2007: 18) จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่าคนที่นับถือศาสนาคริสต์มีจำนวนมากถึงเกือบหนึ่งในสามของโลก ย่อมแสดงให้เห็นถึงบทบาทของศาสนาคริสต์ในโลกปัจจุบันย่อมมีไม่น้อย โดยเฉพาะในแถบยุโรป อเมริกาใต้และครอบคลุมทั่วโลกอาศัยการติดต่อสื่อสารที่ทำให้มนุษยชาติติดต่อสัมพันธ์กันง่ายขึ้น การถ่ายทอดความคิด ความเชื่อรวมถึงทัศนคติในการดำเนินชีวิตย่อมมีการแบ่งปันและสื่อถึงกันในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงสถาบันต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์คำสอนของศาสนาคริสต์ที่กระจัดกระจายไปทั่วโลก ย่อมสะท้อนถึงบทบาทของศาสนาคริสต์ในโลกปัจจุบันอย่างชัดเจน

1. หลักการและระบบการดำเนินงานของคริสตศาสนา

ศาสนาคริสต์ได้ถือกำเนิดและพัฒนาความเป็นศาสนาอย่างต่อเนื่อง จากอดีตสู่ปัจจุบัน ในบริบทของสังคมมนุษยชาติ ประกอบกับจำนวนคนที่นับถือศาสนาคริสต์มีจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการภายในศาสนาที่มีพัฒนาการตามยุคสมัยเพื่อรักษาเอกภาพของศาสนา แม้ว่าศาสนาคริสต์จะแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม/นิกาย แต่ก็มีความเชื่อหลัก ๆ คล้ายกัน คือ เชื่อในพระเจ้า เชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าและพระคัมภีร์ อย่างไรก็ตามแต่ละนิกาย/กลุ่มอาจมีความแตกต่างกันไปบ้าง ด้านความเชื่อ ด้านศาสนพิธี โดยเฉพาะด้านการปฏิบัติในเรื่องการบริหารปกครอง ซึ่งสรุปโดยย่อในแต่ละนิกาย/กลุ่มได้ดังนี้ (ไพศาล อานามวัฒน์, 2006: 9)

1.1 ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก

นิกายโรมันคาทอลิก (Catholic) เรียกสั้นๆ ว่า “คาทอลิก” เนื่องมาจากใช้ภาษาละตินและยึดแนวทางจารีตพิธีกรรมของโรมันเป็นหลัก มีพระสันตะปาปาเป็นประมุขสูงสุด และมีพระคาร์ดินัล บรรดามุขนายก ศาสนบริกรสงฆ์ (บาทหลวง) นักบวช ปกครองและเผยแผ่ศาสนา มีศูนย์กลางอยู่ที่นครรัฐวาติกัน (กรุงโรม) รวมทั้งมีคณะนักบวชชายและหญิง ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำงานตามวัตถุประสงค์ของแต่ละคณะ เช่น คณะคามิลเลียน ดูแลคนป่วย คณะซาเลเซียน ช่วยเด็กยากจน กำพร้า คณะเซนต์คาเบียลและคณะเซนต์ปอล เดอ ซาร์ต ดูแลกิจการการศึกษาเยาวชน ฯลฯ หลักการและระบบการดำเนินงานของศาสนาคริสต์ โรมันคาทอลิกมีลักษณะเป็นสากล ไม่จำกัดเฉพาะชาติใดชาติหนึ่ง พระศาสนจักรจึงรับเอาศาสนบริกรจากชนทุกชาติที่พระศาสนจักรมีสมาชิกอยู่ และระบบการบริหารรูปแบบเดียวกันทั่วโลก ภายใต้ประมวลกฎหมายของพระศาสนจักร (Cannon law) ฉบับเดียวกันภายใต้การรับรองของพระสันตะปาปา

1.2 ศาสนาคริสต์ นิกายออร์โธดอกซ์

นิกายออร์โธดอกซ์ (Orthodox) ส่วนใหญ่จะยึดพิธีกรรมแบบดั้งเดิม ใช้ภาษากรีก ส่วนใหญ่อยู่ในรัสเซีย กรีกและยุโรปตะวันออก มีผู้นำสูงสุดแต่ละประเทศเรียกว่า “พระอัยกา” (Patriarch) เช่น พระอัยกาแห่งรัสเซีย พระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิล เป็นต้น ไม่มีผู้นำสูงสุดระดับสากล ดังนั้น หลักการและระบบการดำเนินงานจึงมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศซึ่งเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกันและกัน

1.3 ศาสนาคริสต์ โปรแตสแตนท์

โปรแตสแตนท์ (Protestants) เป็นชื่อรวมของกลุ่มต่างๆ ที่แยกตัวออกมาจากโรมันคาทอลิก ในช่วงแรกๆ มีนิกายลูเทอร์รัน นิกายอังกรีกันท์ ต่อมาเกิดนิกายอื่นๆ อีก เช่น นิกายเพรสไบทีเรียน นิกายแบ๊บติสต์ นิกายเม็ทโทดิส นิกายเพ็นเตคอส นิกายดิสไซเบิล และนิกายเซเว่นเดย์แอ็ดเวนติส เป็นต้น นอกจากนี้ยังประกอบด้วยนิกายย่อย ๆ อีกเป็นจำนวนหลายร้อยนิกายและมีความแตกต่างกันหลัก ๆ คือ ด้านการปกครองแต่ละนิกายก็เป็นอิสระต่อกัน ส่วนใหญ่เป็นฆราวาสทำหน้าที่ประกาศศาสนา ซึ่งเรียกว่า “ศิษยาภิบาล” หรือ “ศาสนาจารย์” เป็นผู้นำฝ่ายจิตใจของคริสตจักร หลักการและระบบการดำเนินงานของโปรแตสแตนท์ดำเนินการภายใต้ “ธรรมนูญ” ของแต่ละประเทศ มีการปรับปรุงให้เหมาะสมในแต่ละยุคสมัย

2. บทบาทของคริสต์ศาสนาต่อสังคมปัจจุบัน

จากประวัติศาสตร์โลก แม้ว่าในอดีตหลักคำสอนและวิถีปฏิบัติของศาสนาคริสต์เคยมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีต เป็นต้นด้านการเมือง การปกครอง โดยเฉพาะในดินแดนที่เคยอยู่ในเขตปกครองของจักรวรรดิ์โรมัน พัฒนาการของศาสนาคริสต์ควบคู่กับพัฒนาการของโลก ประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นในมุมมองของคริสตชนจึงควบคู่กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติซึ่งมีพระเจ้าประทับอยู่เพื่อช่วยมนุษยชาติสู่ความรอดพ้น (คณะอูร์สุลินและสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา, 1991)

2.1 ศาสนาคริสต์มีอยู่เพื่อรับใช้แผนการแห่งความรอดพ้น

คริสตชนเชื่อว่าพระเจ้า โดยทางพระเยซูคริสตเจ้าทรงสถาปนาพระศาสนจักร และประทับอยู่ในพระศาสนจักรโดยทางพระจิต เพื่อสืบต่อการช่วยมนุษย์สู่ความรอดพ้นที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเผยแสดงแผนการแห่งความรอดพ้นของพระเจ้าแก่มนุษยชาติ พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งพระศาสนจักรเพื่อเป็นเครื่องมือรับใช้แผนการแห่งความรอดพ้นของพระเจ้า พระศาสนจักร (คริสตจักร) ตระหนักถึงบทบาทและภารกิจที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงจัดตั้งและมอบภารกิจในการช่วยมนุษยชาติสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า ดังพระดำรัสของพระเยซูคริสตเจ้าที่ว่า “เรามาในโลกนี้ไม่ใช่เพื่อรับการปรนนิบัติ แต่เพื่อรับใช้ผู้อื่น” (มธ 11: 28) พระศาสนจักรตระหนักถึงคำสอนและวิถีชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า โดยเฉพาะภารกิจในการสืบต่องานของพระเยซูคริสตเจ้าในการประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้น (กีรติ บุญเจือ, 2530: 147 – 149)

2.1.1 พระศาสนจักรไม่ใช่เครื่องมือรับใช้อาณาจักรของโลก แต่มีไว้เพื่อรับใช้อาณาจักรของพระเจ้า

พระศาสนจักรไม่ต้องการอำนาจหรือการเป็นอภิมหาอำนาจของโลก แต่พระ ศาสนจักรยืนยันอย่างซื่อสัตย์ต่อธรรมชาติของพระศาสนจักร ที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งขึ้นเพื่อความรอดพ้นของมนุษยชาติทั่วโลก ภารกิจของพระศาสนจักรจึงเป็นงานฝ่ายจิตวิญญาณ เพื่อช่วยมนุษยชาติสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า ตามแนวทางที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเผยแสดง

2.1.2 พระศาสนจักรต้องปรับตัวเพื่อรับใช้แผนการแห่งความรอดพ้น

สืบเนื่องจากพระศาสนจักรตระหนักถึงภารกิจที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงมอบให้ในแผนการแห่งความรอดพ้น สมาชิกของพระศาสนจักรในระดับต่าง ๆ จึงมีการทบทวน ไตร่ตรองตนเองเสมอ รวมถึงการพิจารณาระบบการดำเนินการของพระศาสนจักรอย่างต่อเนื่อง เพื่อการทันยุคสมัยในสังคมที่เปลี่ยนแปลง เพื่อพระศาสนจักรจะได้เป็น “เครื่องมือที่ทันสมัย” ภายใต้การนำของพระจิตเจ้าที่ประทับในพระศาสนจักร เพื่อความรอดพ้นของมนุษยชาติ ด้วยการศึกษาค้นคว้าคุณค่าที่พระเยซูคริสตเจ้ามอบให้แก่มนุษยชาติให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อพระศาสนจักรจะได้ดำเนินการตามภารกิจด้วยรูปแบบที่ทันสมัยในการรับใช้แผนการแห่งความรอด

2.1.3 พระศาสนจักรใส่ใจสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อยืนหยัดในการส่งเสริมความเป็นมนุษย์

จากชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้าและธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบเนื่องจากอัครสาวก ทำให้พระศาสนจักรดำเนินตามรูปแบบของพวกท่าน ในการอุทิศตนรับใช้แผนการของพระเจ้าในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติความรักต่อเพื่อนพี่น้อง ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะเจตนารมณ์ของพระเยซูคริสตเจ้าที่อยู่เคียงข้างคนยากจนและคนมีความทุกข์ พระศาสนจักรอุทิศตนเพื่อส่งเสริมให้มนุษยชาติตระหนักถึงคุณค่าและความหมายชีวิตของตน รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้มนุษย์ได้เติบโตและก้าวหน้าให้สมศักดิ์ศรีในฐานะเป็นบุตรของพระเจ้า พระศาสนจักรจึงส่งเสริมให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการใส่ใจต่อสถานการณ์ของสังคมปัจจุบัน ที่เป็นทั้งความดีงามและแนวโน้มที่อาจนำสู่อันตรายของชีวิตมนุษย์ พระศาสนจักรจึงพยายามหารูปแบบที่ทันสมัย เป็นต้นการจัดตั้งสถาบันหรือองค์กรต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบของสถาบันการศึกษา การรักษาพยาบาล ชุมชนต่าง ๆ เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชีวิตมนุษย์ให้มีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อพวกเขาได้สัมผัสถึงความรักของพระเจ้าผ่านทางองค์กรหรือสถาบันต่าง ๆ ของพระศาสนจักร

2.2 พระศาสนจักรต้องส่งเสริมและร่วมมือกันของมนุษยชาติ เพื่อความรอดพ้นของโลกโดยตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นพื้นฐาน

พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งพระศาสนจักรเพื่อการอยู่ร่วมกับคนอื่น มิใช่เพื่อแยกตัวจากผู้อื่นหรือตั้งตัวเป็นศัตรูกับฝ่ายอื่น ๆ แต่เน้นการสมานฉันท์ เพื่อร่วมกันสร้างความยุติธรรม สันติสุขและสันติภาพในหมู่มวลมนุษยชาติทั่วโลก ในขณะเดียวกัน พระศาสนจักรได้ประณามกิจการที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ความก้าวร้าว ความรุนแรง รวมถึงการกดขี่ข่มเหงเพื่อนมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ และส่งเสริมให้มนุษยชาติมีจิตสำนึกในการดำเนินชีวิตที่มุ่งสู่ความจริงแท้ที่พระเจ้านำเสนอแก่มนุษย์ตามรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ รวมถึงการกระตุ้นให้มีการปรับปรุงโครงสร้างทางสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม รวมถึงการที่ประเทศที่ร่ำรวย (รวมทั้งคนที่ร่ำรวย) ต้องมีส่วนในการช่วยเหลือประเทศที่ยากจน (คนที่ยากจน) โดยมีพื้นฐานที่ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีเท่าเทียมกัน ในการเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า

3. ความสัมพันธ์ระหว่างคริสต์ศาสนากับศาสนาอื่น ๆ

3.1 ทัศนะของคริสตชนต่อศาสนาอื่น ๆ

แม้ว่าร่องรอยจากประวัติศาสตร์คริสตศาสนา แสดงถึงความไม่ลงรอยและท่าทีที่ไม่เป็นมิตรระหว่างคริสตชนนิกายต่าง ๆ ในศาสนาคริสต์รวมทั้งกับผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ โดยคริสตชนพยายามทุกวิถีทางเพื่อประกาศข่าวดีแห่งความรอด เพื่อให้มีการเข้ามานับถือคริสต์ศาสนา แต่หลังสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ท่าทีของพระศาสนจักร (คาทอลิก) ทำให้คริสตชนมองดูศาสนาอื่นที่ไม่ใช่คริสตศาสนาในแง่บวก เห็นคุณค่าของหลักธรรมคำสอนในแต่ละศาสนาโดยมีพื้นฐานบนความรักเมตตาของพระเจ้าที่ทรงมีวิธีการหลากหลายในการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น คริสตชนมีความเชื่อว่าใครก็ตามที่เป็นผู้มีน้ำใจดีและพยายามปฏิบัติตนตามหลักธรรมในศาสนาของตนและมุ่งสู่ความรอดตามความเชื่อของศาสนาของตน ภายในหัวใจของพวกเขามีพระพรของพระเจ้า โดยผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้าที่สิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์ทุกคน ทรงทำงานอยู่ภายในจิตใจของพวกเขา พระเจ้าทรงมีวิธีการช่วยมนุษยชาติสู่ความรอดพ้น แต่ละศาสนาต่างสนองตอบการดลใจของพระเจ้าในรูปแบบที่ต่างกัน พระเยซูคริสตเจ้าทรงเผยแสดงพระอาณาจักรของพระเจ้าและทรงสถาปนาพระศาสนจักรเพื่อการประกาศข่าวดีแห่งอาณาจักรพระเจ้า แต่พระศาสนจักรไม่ได้ผูกขาดการบรรลุถึงอาณาจักรของพระเจ้าไว้แต่เพียงผู้เดียว พระศาสนจักรเป็นเพียงผู้รับมอบภารกิจจากพระเยซูคริสตเจ้าผ่านทางอัครสาวกในการประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้น พระศาสนจักรยืนยันถึงความรอดพ้นจากพระเจ้าผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า แต่พระเจ้า (โดยทางพระเยซูคริสตเจ้า) อาจมีวิธีการอื่น ๆ เพื่อช่วยมนุษยชาติสู่ความรอดพ้นก็ได้ แต่พระศาสนจักรไม่ทราบ เพราะพระศาสนจักรยืนยันเฉพาะคำสอนและหลักปฏิบัติที่พระเยซูคริสตเจ้ามอบแก่พระศาสนจักรผ่านทางอัครสาวกเท่านั้น ส่วนรูปแบบหรือวิธีการอื่น ๆ ของการช่วยให้รอดพ้นทางพระเยซูคริสตเจ้า พระศาสนจักรไม่ทราบ

ด้วยเหตุนี้ พระศาสนจักรจึงส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า “คุณค่าอาณาจักรของพระเจ้า” ได้แก่ สันติภาพ ความยุติธรรม เสรีภาพ ภราดรภาพ (โรเบิร์ต กอสเต, 2547: 360) ส่งเสริมการเสวนาระหว่างศาสนาต่าง ๆ และวัฒนธรรมต่าง ๆ เพื่อว่าอาศัยการส่งเสริมกันและกันให้มั่นคงและเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น จะช่วยมนุษยชาติให้ก้าวหน้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้มากยิ่งขึ้น คริสตชนเชื่อว่ามีการทำงานของพระเยซูคริสตเจ้าในหัวใจมนุษย์ ในประวัติศาสตร์ ในวัฒนธรรมและในศาสนาต่าง ๆ เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นบุตรของพระเจ้า ทุกคนได้รับการเชื้อเชิญสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า ดังนั้น พระศาสนจักรจึงเห็นคุณค่าและพิจารณาทุกสิ่งที่เป็นความดีและความจริง (CCC, 1994: 843) ซึ่งอาจพบได้ในศาสนาและวัฒนธรรมต่าง ๆ ในฐานะที่มนุษยชาติได้รับการเชื้อเชิญจากพระเจ้าสู่ความรอดพ้น สำหรับคริสตชนถือว่า มนุษยชาติ (ที่แม้จะมีภาษา วัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติที่แตกต่างกัน) แต่ทุกคนก็เป็นประชาคมเดียวกัน มีสภาวะธรรมชาติ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย) เหมือนกัน มีต้นกำเนิดและจุดหมายปลายทางอันเดียวกัน คือ พระเจ้าผู้เป็นพระบิดาและเป็นความรอดของมนุษย์ทุกคน และความรอดนี้มนุษย์ทุกคนได้รับโดยผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าที่ทรงลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อเผยแสดงและเป็นทั้งหนทาง ความจริงและชีวิต เพื่อนำมนุษยชาติสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า โดยมีพระจิต ผู้สถิตและทำงานในใจของมนุษย์เป็นผู้ดลใจให้เข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อนี้

3.2 การสร้างความสัมพันธ์กับศาสนาอื่น ๆ อาศัยการเสวนา (Dialogue)

ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วว่า การประชุมสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ถือเป็นการเปิด “วิสัยทัศน์” ใหม่ของพระศาสนจักร โดยเฉพาะการตระหนักถึงพระเมตตาของพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสตเจ้า ที่มีแผนการช่วยมนุษยชาติสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์ในหลายวิธีการ (และพระศาสนจักรโดยเป็นเครื่องมือที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งขึ้นเพื่อความรอดของมนุษยชาติ) คุณค่าของความจริงในศาสนาต่าง ๆ ได้รับการพิจารณาอย่างเอาใจใส่และด้วยความเคารพในความจริงของศาสนานั้น ๆ พระศาสนจักรจึงส่งเสริม “การเสวนา” ในฐานะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรกับผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ การเสวนาไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกการประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้นที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงมอบหมายแก่พระศาสนจักร และไม่ได้เป็นกลอุบายเพื่อที่จะล่อลวงให้คนอื่นมาเป็นคริสตชน แต่เป็นการศึกษาเรียนรู้ ให้ความเคารพ เสริมสร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมให้มีการดำเนินชีวิตตามวิถีของแต่ละศาสนาอย่างจริงจัง โดยมีพื้นฐานบนความเคารพต่อความจริงของแต่ละศาสนา มีการจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการเสวนาระหว่างศาสนาในพระศาสนจักรส่วนกลาง และพระศาสนจักรในแต่ละประเทศ เพื่อการสมานฉันท์ระหว่างผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ จะได้เกิดขึ้นและนำศาสนามาใช้เป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพในโลกอย่างแท้จริง

4. สรุป

พระศาสนจักรเตือนใจคริสตชนเสมอว่า ไม่ควรที่จะอ้างถึงพระเจ้าว่า เป็นพระบิดาของมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าหากตนเองไม่ได้ตั้งใจประพฤติตัวฉันท์พี่น้องกับเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นชาติใดหรือศาสนาใด เพราะความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ เป็นความสัมพันธ์แห่งความรัก ความเมตตาอารีที่พระเจ้าทรงมีแก่มนุษย์ผู้เป็นบุตรของพระองค์ คริสตชนจึงต้องประพฤติ ปฏิบัติตนต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยความรักฉันท์พี่น้อง ดังในพระคัมภีร์ที่ว่า “เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด ถ้าท่านมีความรักต่อกัน ทุกคนจะรู้ว่าท่านเป็นศิษย์ของเรา” (ยน 13: 34 – 35) ดังนั้น คริสตชนจึงตระหนักว่าตนต้องประพฤติตัวในแบบให้เคารพนับถือมนุษย์ทั้งหลาย และควรถือเสมอว่า การแบ่งแยก การเบียดเบียนใดๆ การรังแกใดๆ ที่กระทำต่อมนุษย์ เพราะเรื่องเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาและวรรณะ เป็นการปฏิเสธที่จะถือตามหลักคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น: